19.7.51

การนำไปใช้ Patient Safety Goals


บทส่งท้าย

เอกสารฉบับนี้รวบรวมข้อมูลทางเทคนิคซึ่งถือได้ว่าเป็น good practice ที่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ และจะเป็นประโยชน์สำหรับสถานพยาบาลต่างๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน
มีข้อที่สมควรพิจารณาในการนำแนวทางดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ดังนี้
1. อารมณ์กับข้อมูลที่ได้รับ
อารมณ์เชิงบวกทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากกว่าอารมณ์เชิงลบ เราอาจจะรู้สึกว่าแนวทางในบางเรื่องนั้นเกินความสามารถที่เราจะปฏิบัติได้หรือเห็นว่าไม่น่าจะเป็นประโยชน์ในบริบทของเรา ทำให้รู้สึกกังวล รู้สึกเครียด รู้สึกหงุดหงิด เราน่าจะปรับเปลี่ยนอารมณ์เชิงลบนั้นให้มาเป็นอารมณ์ที่เป็นกลาง หรือจะดียิ่งขึ้นให้มาเป็นอารมณ์ที่เป็นบวก จะทำให้เราเห็นโอกาสและหนทางที่จะใช้ข้อมูลได้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น
2. ความครอบคลุมและน้ำหนักของข้อมูล
แน่นอนว่าข้อมูลที่นำเสนอในบางเรื่องยังไม่สมบูรณ์ บางเรื่องถูกคัดกรองมาเฉพาะข้อมูลที่ได้มาจากการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือในการพิสูจน์ประสิทธิผล ทำให้ภาพรวมของการดูแลอาจจะดูไม่สมบูรณ์ ถ้ามีเวลาเราน่าจะกลับไปที่แหล่งข้อมูลปฐมภูมิเพื่อเรียนรู้ที่มาที่ไปทั้งหมดของข้อเสนอแนะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นประเด็นการดูแลรักษาโรคที่มีความเฉพาะ นอกจากนั้นในการนำไปปฏิบัติ จะต้องตระหนักว่าเราต้องวางสมดุลระหว่างความสมบูรณ์ครบถ้วนกับความเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ได้ทั้งสองอย่าง แต่ที่พอดีนั้นอยู่ตรงไหน เป็นศิลปะที่เราจะต้องค้นหาด้วยตัวเราเอง
3. การติดตามความสำเร็จของการปฏิบัติตามเป้าหมายความปลอดภัย
การติดตามตัวชี้วัดเป็นแนวทางหนึ่งในการติดตามความสำเร็จซึ่งทุกท่านรู้จักกันดี ถ้าจะเพิ่มแนวคิดองค์กรที่มีชีวิตเข้ามา การที่ทีมงานจะมาใคร่ครวญไตร่ตรอง ทบทวนความรู้สึก มองหาความหมายในสิ่งที่นำมาสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้น ก็จะทำให้เราเห็นภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นของความสำเร็จ และสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องรอผลลัพธ์ที่ปรากฏกับผู้ป่วย
ขอขอบคุณคณะทำงานส่งเสริม “THAI Patient Safety Goal” ซึ่งมาร่วมสร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง

อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

ไม่มีความคิดเห็น: